10 คำถามที่พบบ่อย เมื่อจะต้องเช็คสิทธิ และใช้สิทธิบัตรทอง

        สิทธิการรักษาพยาบาลที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อว่า “บัตรทอง” นั้น บางคนอาจเคยได้ใช้ แต่หลายๆคนก็ไม่เคยใช้ วันนี้เรารวบรวมคำถามที่คนอยากรู้มากที่สุด 10 ข้อ เกี่ยวกับบัตรทองมาไว้ในที่เดียว เผื่อว่าวันไหนเราจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา(ถ้าไม่ต้องใช้เลยก็จะดีมาก) จะได้ทราบว่าสิทธิบัตรทองนั้นมีประโยชน์ และข้อจำกัดในการใช้อย่างไรบ้างค่ะ

 

Credit photo : thecitizen.gr

Credit photo : thecitizen.gr

 

1. สิทธิบัตรประกันสุขภาพ ,สิทธิบัตรทอง และสิทธิ 30 บาท แตกต่างกันอย่างไร ?

           ทั้ง 3 สิทธิเป็นสิทธิชนิดเดียวกัน แตกต่างกันแค่ชื่อเรียกเท่านั้น โดยเป็นสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข เช่น การรักษาพยาบาล การป้องกันโรคสำหรับบุคคลที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ

เริ่มแรกเรียกสิทธินี้ว่า สิทธิ 30 บาท เพราะเป็นนโยบาย 30 รักษาทุกโรค บัตรจะเป็นกระดาษอ่อนธรรมดา ต่อมาได้ออกเป็นบัตรสีเหลืองทองเคลือบพลาสติก จึงเรียกว่าสิทธิบัตรทอง และปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นที่มาของสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้านั่นเอง

 

 2. ประชาชนทุกคนสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ใช่หรือไม่ ?

          คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และไม่มีสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้

 

3. หากจะใช้สิทธิบัตรทองต้องทำอย่างไร ?

           กรณีใช้สิทธิที่หน่วยบริการที่มีสิทธิอยู่ สามารถนำบัตรประชาชนไปติดต่อที่โรงพยาบาล หรือ ศูนย์บริการสาธารณสุขได้เลย

           กรณีใช้สิทธิข้ามเขต จะใช้สิทธิได้ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต  โดยใช้สิทธิได้ 3 วัน (72 ชั่วโมง)

 

4. สามารถเช็คสิทธิรักษาพยาบาลได้ที่ไหนบ้าง ?

  • ติดต่อด้วยตนเองที่ สถานีอนามัย / โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับในกทม.สามารถติดต่อสำนักงานเขตของกทม.ได้
  • ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ โทร. 1330 กด 2 (ค่าบริการครั้งละ 3 บาท)
  • เว็บไซด์ nhso.go.th
  • App สิทธิ 30 บาท ทั้งระบบ IOS และ Android

App30บาท

5. สิทธิบัตรทองคุ้มครองค่าใช้จ่ายประเภทใดบ้าง ?

  • บริการวางแผนครอบครัว ได้แก่ ให้คำแนะนำปรึกษาคู่สมรส บริการคุมกำเนิด
  • การคลอดบุตร รวมกันไม่เกิน 2 ครั้ง (กรณีที่บุตรมีชีวิตอยู่)
  • ดูแลสุขภาพหญิงมีครรภ์ ทารกแรกเกิด พัฒนาการของเด็ก
  • วัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคตามนโยบายรัฐ
  • คัดกรองความเสี่ยง เช่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูก / มะเร็งเต้านม
  • ยาต้านไวรัสเอดส์เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
  • บริการทันตกรรม
  • การตรวจ วินิจฉัย และรักษา โรคทั่วไปเช่น ไข้หวัด จนถึงโรคเรื้อรัง / โรคเฉพาะทางเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง(เช่น ผ่าตัด, ฉายแสง, เคมีบำบัด) ไตวายเรื้อรัง(เช่น ล้างไตผ่านทางช่องท้อง, ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, ผ่าตัดปลูกถ่ายไต) เอดส์ ผ่าตัดตา ต้อกระจก ผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • ค่ายาและเวชภัณฑ์ ตามกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  • ค่าอาหารและค่าห้อง ระหว่างพักรักษาตัว ณ หน่วยบริการ
  • การจัดการส่งต่อผู้ป่วย
  • บริการแพทย์แผนไทย
  • บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เช่น กายภาพบำบัด จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด กิจกรรมบำบัด ฟื้นฟูการได้ยิน / การมองเห็น และรับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการได้ตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด

 

6. กรณีไหนบ้างที่ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ ?

  • รักษาภาวะมีบุตรยาก / ผสมเทียม
  • เปลี่ยนเพศ / การกระทำใดๆเพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์
  • การตรวจวินิจฉัย และรักษา ที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • การรักษาที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง
  • การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถ เฉพาะส่วนที่บริษัท หรือกองทุนตามกฎหมายนั้นต้องเป็นผู้จ่าย
  • การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด ยกเว้นผู้ติดเฮโลอีนที่สมัครใจเข้ารับการรักษา และไม่ต้องโทษคดียาเสพติด ให้ได้รับสารทดแทนยาเสพติด (เมทาโดน) จากหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนได้
  • โรคเดียวกันที่ต้องรักษาในฐานะผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้น กรณีต้องรักษาต่อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • การเปลี่ยนอวัยวะ(Organ Transplantation) ยกเว้น การปลูกถ่ายหัวใจ , ปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และปลูกถ่ายตับในเด็ก(อายุไม่เกิน 18 ปี) ที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด

 

7. สามารถใช้สิทธิบัตรทองในโรงพยาบาลเอกชนได้หรือเปล่า ?

สามารถใช้สิทธิได้ 2 กรณี คือ

          1. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการทีกระทบต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ, สมอง, ลมหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ เช่น หัวใจหยุดเต้น , หอบรุนแรง , มีอาการเขียวคล้ำ , หมดสติไม่รู้สึกตัว , สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลม , มีอาการวิกฤตจากอุบัติเหตุ , มีเลือดออกมากห้ามไม่หยุด , ภาวะขาดน้ำรุนแรง , แขน / ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก , ชัก , มีอาการวิกฤตจากไข้สูง , ปวดท้องรุนแรง เป็นต้น โดยสามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และไม่ต้องสำรองจ่าย

          2. กรณีรักษาแพทย์เฉพาะทาง จำเป็นต้องติดต่อแจ้งความจำนงกับโรงพยาบาลที่จะขอใช้สิทธิก่อนว่าสามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ แล้วแต่กรณีไป

 

8. หากอยู่ต่างจังหวัด แต่อยากใช้สิทธิบัตรทองกับโรงพยาบาลรัฐใหญ่ๆในกรุงเทพฯ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?

          กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตสามารถใช้สิทธิได้เลย แต่หากจะรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคมะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ จำเป็นต้องมีใบส่งตัวผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่

 

9. ย้ายบ้านโดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน แต่อยากจะย้ายหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลที่จะใช้สิทธิ สามารถทำได้หรือไม่ ?

          สามารถทำได้ โดยนำบัตรประชาชนไปติดต่อด้วยตนเองที่หน่วยบริการ, โรงพยาบาลที่ต้องการใช้สิทธิ หรือสำนักงานเขตกทม.ในวันเวลาราชการ และสามารถเปลี่ยนสิทธิได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ (1 ต.ค. -30 ก.ย.ของปีถัดไป)

 

10. หากใช้สิทธิบัตรทอง คุณภาพยาและการรักษาที่ได้รับจะเหมือนหรือเท่าเทียมกับการจ่ายเงินหรือเปล่า ?

          มาตรฐานการรักษาพยาบาล และยาที่ใช้จะเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ถ้าคุณใช้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ หรือคลินิกพิเศษ ที่ต้องจ่ายเงินเอง ก็อาจให้ความสะดวกและรวดเร็วในการใช้บริการมากกว่า

           สำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม , สวัสดิการของข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ การใช้สิทธิประกันสุขภาพ / สิทธิบัตรทอง ก็ถือเป็นสวัสดิการที่รัฐมองให้ เพื่อช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาลไปได้มาก สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากเช่น ค่ายานอกบัญชีหลัก(ที่เบิกไม่ได้) , ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล หรือค่าพยาบาลดูแลที่บ้าน เป็นต้น

 

          หวังว่าสิทธิการรักษาพยาบาลนี้จะทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุมการรักษาได้มากที่สุดนะคะ

 

 

 

 

 

 

แชร์บทความนี้ให้กับเพื่อนๆของคุณด้วยนะคะ^^

Comments

comments