ต้อหิน ไม่ใช่โรคคนแก่ ใครๆก็เป็นได้

โรคต้อหินเป็นโรคตาที่พบค่อนข้างบ่อยในผู้สูงอายุ  แต่คนที่ใช้สายตากับคอมพิวเตอร์มากๆ หรือจ้องหน้าจอโทรศัพท์มือถือนานๆ ใช้สายตาในที่มืดบ่อยๆ ก็อาจทำให้เป็นโรคต้อหินได้เช่นกัน

 

Cridit photo : centerforsight.biz

Credit photo : centerforsight.biz

 

 

ต้อหิน (Glaucoma) คือ  โรคที่เกิดจากเซลล์ประสาทตาถูกทำลายส่งผลให้มีการสูญเสียลานสายตา และเกิดการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตา

 

ทำไมจึงเรียกว่า “ต้อหิน”  เพราะส่วนมากโรคต้อหินเกิดจากการมีภาวะความดันลูกตาสูง และถ้ามีความดันลูกตาสูงมากๆ  ลูกตาของเราจะแข็งกว่าปกติถ้าใช้นิ้วคลำดูจะรู้สึกเหมือนมีหินอยู่ข้างใน แต่ไม่ได้มีก้อนเนื้อที่คล้ายหินอยู่ในลูกตาจริงๆเหมือนที่ผู้ป่วยหลายคนเข้าใจ

 

ความดันลูกตาสูงเกิดจากอะไร  มักจะเกิดจากความผิดปกติของการระบายของเหลวใสที่ลูกตาผลิตขึ้นมาภายในช่องหน้าของลูกตา เพื่อจะระบายออกไปทางมุมตาเป็นการปรับความดันในลูกตาให้สม่ำเสมอ และคงรูปของลูกตาไว้

 

ต้อหินมีกี่ประเภท  มี 2 ประเภท คือ ต้อหินมุมเปิด และต้อหินมุมปิด

 

Credit photo : visionaware.org

ภาพในมุมมองของคนเป็นโรคต้อหินมุมเปิด Credit photo : visionaware.org

 

 

ต้อหินมุมเปิด คือ ต้อหินที่มีมุมตาเปิด แต่ไม่สามารถระบายของเหลวออกจากช่องหน้าลูกตาได้ตามปกติเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและชีวเคมีบางอย่าง  เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะไม่มีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่เมื่อเป็นมากแล้วจะมีอาการสูญเสียการมองเห็นจากรอบนอกลานสายตา จะมองเห็นเป็นลักษณะเหมือนช่องระบาย และค่อยๆลามเข้ามาตรงกลางจนมืดไปในที่สุด

 

ต้อหินมุมปิด คือ ต้อหินที่มีมุมตาปิด จากการอุดตันของทางระบายน้ำในลูกตา มี 2 ชนิดคือแบบเรื้อรัง และแบบเฉียบพลัน ซึ่งเป็นแบบที่อันตรายมากที่สุด

 

ต้อหินมุมปิดแบบเรื้อรัง อาการผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้ตัว การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อมีอาการตามัวลงโรคก็ดำเนินไปมากแล้ว

 

ต้อหินมุมปิดแบบเฉียบพลัน อันตรายอย่างไร  อันตรายมากเพราะความดันในลูกตาจะขึ้นสูงมากในเวลาอันสั้น  มีอาการปวดตา  หรือปวดกระบอกตา  ปวดบริเวณหัวคิ้วอย่างรุนแรง  ตาแดง สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหล ตามัวลงทันที การมองเห็นลดลงอย่างมาก มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย  ต้องรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อวินัจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที

 

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดต้อหิน

  • มีประวัติเป็นต้อหินในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อ แม่ พี่น้อง
  • อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
  • เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดเล็กอักเสบเรื้อรัง
  • เป็นโรคไมเกรน สายตาผิดปกติเช่นสายตาสั้นมากๆ หรือยาวมากๆ
  • ใช้สายตาหนักในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ / โทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะในที่มือหรือแม้แต่การอ่านหนังสือในที่ๆแสงสว่างไม่เพียงพอ
  • เคยได้รับอุบัติเหตุที่กระทบต่อลูกตาโดยตรง
  • มีประวัติเสียเลือดมากจนช็อค
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ

วิธีป้องกันการเกิดต้อหิน

  • หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรตรวจสายตากับจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • เมื่อมีอาการควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินัจฉัย หากเป็นจะได้เข้ารับการรักษาเพื่อหยุดการดำเนินโรค
  • ผู้ที่ต้องใช้สายตามากๆควรจะหยุดพักสายตาทุก 1 ชั่วโมง เช่นการมองออกไปไกลๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้สายตาในที่ๆแสงสว่างไม่เพียงพอ

 

การรักษาโรคต้อหิน  มี 3 วิธีคือ

  1.    รักษาด้วยยา  ส่วนใหญ่เป็นยาหยอดตา บางรายอาจพิจารณาให้ยารับประทานร่วมด้วย
  2.    รักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นวิธีที่ง่าย ใช้เวลาไม่นาน สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ผลการรักษาขึ้นอยู่ กับชนิดของต้อหิน                มักใช้ยารักษาควบคู่กันไป
  3.    รักษาด้วยการผ่าตัด มักจะทำเมื่อรักษาด้วยยากับเลเซอร์ไม่ได้ผล ขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน และความ รุนแรงของโรค                        รวมทั้งโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้อกระจก เป็นต้น

 

จะดูแลผู้ป่วยต้อหินอย่างไร

  • ถ้าผู้ป่วยสูญเสียลานสายตาไปมาก หรือมีการมองเห็นที่ลดลงมากแล้ว ผู้ดูแลผู้ป่วยควรช่วยฝึกให้ผู้ป่วยใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นให้มากขึ้น เช่น การคลำ การจัดวางข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบ ฝึกหยิบของตามเข็มนาฬิกา จัดห้องให้มีแสงสว่างเพียงพอ จัดหาของใช้ที่สีสดใส เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่เห็น
  • ควรดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาตามเวลา เพื่อควบคุมระดับความดันลูกตา
  • ไปตรวจตามแพทย์นัด และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ

 

โรคต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาเพื่อยับยั้งเซลล์ประสาทตาไม่ให้สูญเสียมากไปกว่านี้ ส่วนเซลล์ประสาทที่สูญเสียไปแล้วนั้นไม่สามารถทำให้กลับคืนสภาพเดิมได้ ฉะนั้นเราควรจะดูแลลูกตาไม่ให้ทำงานหนักมากเกินไป และหากมีอาการผิดปกติทางสายตามาก ปวดไมเกรนเรื้อรัง หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรจะเข้ารับการตรวจจากจักษุแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการรุกรามของโรคซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

 

 

แชร์บทความนี้ให้กับเพื่อนๆของคุณด้วยนะคะ^^

Comments

comments